Friday, December 25, 2009

ความมั่นใจในตนเอง

มีรายการหนึ่งมาสัมภาษณ์เรื่อง การสร้างความมั่นใจให้ตนเอง ขณะนี้คนขาดความมั่นใจกันมาก ทั้งในแง่ธุรกิจ การงาน การศึกษา สังคมและครอบครัว คนจึงมีอาการโลเล ลังเล ไม่มั่นใจ วิตก กังวล ระแวง ว่าที่คิดไปแล้วนั้นถูกหรือผิด ที่ทำไปแล้วนั้นใช่หรือไม่ จะคบใครก็ไม่แน่ใจว่าจะคบดีหรือไม่ จะลงทุนก็ไม่กล้าลงทุน กลัวสิ่งนั้นกังวลสิ่งนี้ ดูๆ แล้วผู้คนในสังคมกำลังขาดความมั่นใจกันขึ้นทุกวันๆ

ผมให้สัมภาษณ์ไปว่า ผมอยากเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ว่าความมั่นใจของคนเรานั้น เปรียบเสมือนปริมาณทองคำแท่งในตัวของเราทุกคน บางคนมีจำนวนมาก บางคนมีจำนวนน้อย และบางคนไม่มี แต่ส่วนใหญ่จะมีอยู่แล้วทั้งนั้นในปริมาณแตกต่างกัน

คนที่จะมีความมั่นใจได้ก็คือคนที่มองเห็นคุณค่าของทองคำแท่งในตัวของตัวเอง ซึ่งมีไม่เท่ากันแต่ก็มีค่าทั้งนั้น บางคนก็มองเห็น บางคนก็มองไม่เห็นหรอกแม้จะมีอยู่มากก็ตาม หลายๆ คนมีทองคำแท่งอยู่เป็นจำนวนมากแต่ไม่เคยมอง กลับมองเห็นแต่กองขยะในชีวิต หรือสิ่งที่ไม่ดีในตัวเอง จึงไม่มีความมั่นใจในตัวเอง

บางคนมีทองคำแท่งนิดเดียว แต่มองเห็นได้ชัดและตระหนักในความมีค่าของมัน เขามีความมั่นใจในตัวเองตามความเป็นจริงของเขา

นั่นก็คือคนที่จะมีความมั่นใจในตัวเองได้ คือคนที่ตระหนักในความมีคุณค่าของตนเองได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในเวลานั้นทั้งดีหรือว่าเลวลง เขาก็ตระหนักในความมีค่าของเขาอยู่เหมือนเขามีทองคำแท่งอยู่ในตัวของเขา ทำให้เขามั่นใจตัวเองได้ ไม่มีความกลัว ไม่โลเล ไม่กังวล ไม่ระแวง ไม่ท้อถอย

คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มักมีความมั่นใจในตัวเองตามความเป็นจริง เสมือนเขามั่นใจในทองคำแท่งในตัวเขาทุกคน ไม่ว่าจะมีมากหรือมีน้อย แต่มันก็มีค่า เมื่อเขานึกถึงความมีค่าของตัวเขาก็ทำให้เขามั่นใจ กล้าหาญ กล้าลงมือทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างดีต่อไป

ผมได้เสนอวิธีสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองง่ายๆ ดังนี้

  1. ให้นึกถึงทองคำแท่งในตัวเองเสมอๆ คือ ให้นึกถึงความดีหรือความเก่งที่ตัวเองเคยทำได้แล้วเสมอๆ แม้จะทำได้เพียงเล็กน้อยก็ใช้ได้ เช่น เคยช่วยคนยากจน เคยช่วยสัตว์ที่ลำบาก เคยทำบุญ นึกถึงเพียง 2-3 อย่างก็พอ นึกบ่อยๆ จนเกิด "ความเชื่อ" ว่าตัวเองมีค่าที่ทำสิ่งที่ดีๆ ได้แล้ว โอกาสที่จะทำความดีความเก่งต่างๆ ต่อไปอีกก็มีได้มากขึ้น เมื่อชื่นชมตัวเอง เชื่อว่าตัวเองมีค่า ก็เกิดความมั่นใจตัวเองตามความเป็นจริงได้
  2. ให้หัดตัดสินใจและรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้นๆ การเลือกตัดสินใจเป็นการใช้ปัญญาของมนุษย์ คนจะเลือกตัดสินใจแตกต่างกันตามประสบการณ์ ความคิด ความรู้ ความกลัว หลักง่ายๆ และให้นึกถึงความรักเพื่อนมนุษย์เข้าไปด้วย ผลของการตัดสินใจมักไม่ผิดพลาด ขอให้คิดว่าเมื่อเรา "กล้า" ตัดสินใจสักหนึ่งครั้งแล้ว โอกาสจะ "กล้า" ตัดสินใจต่อๆ ไปจะมากขึ้น เมื่อตัดสินใจแล้วก็รับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น ถ้าผลออกมาดีก็ทำต่อไป ถ้าผลออกมาไม่ดี ก็ตัดสินใจใหม่ได้ เปลี่ยนแปลงได้ไม่เป็นไร และให้ถือว่าเป็นประสบการณ์ของชีวิต ชีวิตต้องมีประสบการณ์ทั้งนั้น ทั้งที่พอใจและไม่พอใจ ไม่เช่นนั้นชีวิตจะไม่มีค่าหรอก
  3. ลดความกลัว คนจะนึกถึงความกลัวจนไม่กล้าตัดสินใจ และไม่มั่นใจตัวเอง จงลดความกลัว โดยให้นึกถึงคำว่า "กล้า" ให้บ่อยขึ้น บอกกับตัวเองสิว่า กล้าหาญมากขึ้นทุกวันๆ ทุกนาทีที่ผ่านไป ความกล้าหาญเป็นคุณสมบัติที่ดีของชีวิต ถ้าเรานึกว่าเรามี เราก็จะมีมากขึ้นทันที แต่ถ้าเรานึกว่าเราไม่มีความกล้า มีแต่ความกลัว เราก็จะ "เชื่อ" ว่าเราไม่กล้า มีแต่ความกลัวตลอดชีวิต
  4. เลิกสงสารตัวเอง ในกรณีที่ตัดสินใจแล้วได้ผลไม่น่าพอใจ หรือคิดว่าตัดสินใจผิด น่าจะตัดคำว่า "สงสาร" ออกไปจากคำพูดและความคิดเสีย ควรใช้คำว่า "เห็นอกเห็นใจ" จะดีกว่า ถ้าหากทำสิ่งใดแล้วไม่ได้ตั้งใจนึกก็ให้เห็นอกเห็นใจตัวเอง ไม่ซ้ำเติมตัวเอง จงให้กำลังใจตัวเองและลงมือทำใหม่ได้ ทุกอย่างจะกลายเป็นประสบการณ์ ถ้าผลออกมาดีก็ทำต่อไปตามแบบที่ทำแล้วนั้น ถ้าไม่ดีก็ให้เปลี่ยนเสีย ทำสิ่งใหม่เสีย ก็แค่นั้นเอง ขอให้นึกเสมอๆ ว่าเวลาทำอะไรให้ทำเต็มที่ ตัดสินใจแล้ว ทำเต็มที่แล้ว ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น เพราะทำเต็มที่แล้ว ให้ถือว่าเก่งมากและดีมากแล้ว ส่วนผลที่ออกมานั้นเราควบคุมไม่ได้หรอก ปล่อยไปตามธรรมชาติเถิด ไม่เป็นไรหรอก ผลเป็นอย่างไรก็ให้ยอมรับ แต่ไม่ใช่ความผิดของเรา ถ้าคิดอย่างนี้ เราจะเกิดกำลังใจและเกิดความมั่นใจ และมีความกล้าที่จะลงมือทำในสิ่งที่ควรทำตลอดไป
  5. เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทั้งกับคนที่ดีกว่าและคนที่ด้อยกว่า เพราะถ้าเปรียบเทียบตัวเองบ่อยๆ กับคนอื่น ทั้งกับคนอื่นที่เด่นกว่าหรือด้อยกว่า คุณจะไม่รักตัวเองในที่สุด หรือมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารักตามมามากขึ้น เช่น ถ้าคุณเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ด้อยกว่า คุณจะหยิ่ง หรือหลงตัวเองได้ง่ายๆ ไม่น่ารักหรอก หรือบางคนมัวแต่สงสารคนอื่นจนตัวเองหมดความสุข และถ้าคุณเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เด่นกว่า คุณอาจอิจฉาเขาหรือแข่งขันมากจนไม่เป็นสุข หรือคุณอาจจะรู้สึกต่ำต้อยจนกลายเป็นปมด้อยและไม่เป็นสุกเช่นกัน จงเปลี่ยนการเปรียบเทียบเป็นการยอมรับจะดีกว่าครับ เช่น ถ้าประจักษ์ว่าเราทำได้ดีกว่าคนอื่น หรือคนอื่นด้อยกว่าก็ให้ยอมรับ และมีจิตเมตตาคนอื่นอยากช่วยคนอื่นมากขึ้น ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น ไม่ใช่ต้องทำให้ได้ทั้งหมด เพราะจะทำให้เป็นทุกข์ได้อีก

แต่ถ้าประจักษ์ว่าคนอื่นดีกว่าเราก็ให้ยอมรับ และให้รู้สึกยินดีกับเขา หรือเลียนแบบอย่างที่ดีจากเขาก็ได้ ซึ่งจะทำให้ได้มิตรภาพและความเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น ขณะนี้มีคนขาดความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ทำให้สังคม ครอบครัว และตัวเขาเองไม่มีความสุข มีหลายๆ คนมาปรึกษาที่คลินิกด้วยเรื่องการขาดความมั่นใจในตัวเองนี้ ทั้งที่หลายคนเป็นคนเก่ง หลายๆ คนจบระดับปริญญาเอก ผมต้องวิเคราะห์จากประวัติครอบครัว การอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็กและสิ่งแวดล้อม แรงกระทบที่จารึกไว้ในระดับจิตใต้สำนึก ซึ่งมีแตกต่างกัน แล้วจึงแนะนำช่วยเหลือ แนะแนวคิด ซึ่งแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน ที่เขียนแนะนำมานี้น่าจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง ลองนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ผมอยากเห็นสังคมไทยมีคนที่มีความมั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น กล้าตัดสินใจและลงมือทำสิ่งที่เหมาะสม และรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นได้มากขึ้น ถ้าทำไม่เหมาะ ไม่ควร ก็หยุดเสีย เลิกเสีย และทำใหม่ได้

รู้จักเมตตาคนที่ด้อยกว่า และยินดีกับคนที่เด่นกว่า จะทำให้ไม่หลงตัวและไม่เกิดปมด้อยในจิตใต้สำนึก สังคมจะน่าอยู่ ผู้คนจะน่ารักมากขึ้น

ช่วยกันฝัน ช่วยกันทำให้มากขึ้นเถิด เราจะได้อยู่กันอย่างมีสันติสุขในกลุ่มคนที่มีคุณภาพชีวิต เข้าขั้นมาตรฐานสากลมากขึ้น

การแข่งขัน กับ การพักผ่อน

ยุคนี้คำว่า การแข่งขัน กำลังขึ้นสมอง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องบอกว่า ต้องพร้อมสำหรับการแข่งขัน นี่อาจจะเว้นเฉพาะคนที่มีอาชีพเป็น ศิลปิน บริสุทธิ์ แบบ คุณถวัลย์ ดัชนี ที่ขายตัวเองได้ด้วยความยิ่งใหญ่บารมี ไม่ต้องรอให้อากู๋โปรโมตแบบศิลปินแกรมมี่

แต่หากเป็นคนธรรมดา ไม่ว่าจะทำอะไร ก็มักจะต้องแข่งขันอยู่ดี บางคนแข่งแบบไม่ลืมหูลืมตา จนป่วยไปเลยก็มี หรือไม่ก็แข่งจนเหนื่อยตายไปก็มี เพราะว่าลืมพักผ่อน

ฝรั่งให้ความสำคัญกับการพักผ่อนอย่างมีวินัย เห็นได้จากการที่ผู้บริหารฝรั่งมีการลาหยุดกันได้เป็นเดือนๆ และเขาก็ใช้มันอย่างจริงจัง หายไปจากสำนักงานไปพักผ่อนกันจริงๆ

ตอนนี้เป็นยุคสื่อสารไร้พรมแดน มีการทำการศึกษาเรื่องการพักผ่อน ว่าการที่คนมีวิถีชีวิตเปลี่ยนไปโดยมีเครื่องมือสื่อสารและอำนวยความสะดวกมากขึ้นนั้น ได้พักผ่อนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนไหม

พูดถึงเรื่องนี้ก็แวบไปถึงเมื่อวันก่อนแวะเยี่ยมเพื่อน เธอเพิ่งซื้อเครื่องล้างจานมา หลังจากรับประทานอาหารเช้าด้วยกัน จะช่วยเธอล้างถ้วยล้างจาน เธอก็บอกเอาไว้นั่น เดี๋ยวให้เครื่องมันจัดการ แล้วเราก็มานั่งคุยกันต่อ

คนอเมริกันเขาช่างทำการศึกษาทุกๆ เรื่องเอาไว้ ขณะนี้มีนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันสองคนทำวิจัยเรื่องการพักผ่อนของคนอเมริกันในยุคปัจจุบัน ผลสรุปออกมาว่าคนอเมริกันพักผ่อนมากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์สองคนนี้คนหนึ่งทำงานอยู่ที่เฟด หรือ Federal Reserve Bank at Boston ซึ่งเป็นงานแบบเดียวกับที่ อลัน กรีนสแปน ทำ เพียงแต่อันนี้อยู่ที่บอสตัน อีกคนอยู่ที่ University of Chicago"s Graduate School of Business ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงทั้งคู่

วิธีทำวิจัยคล้ายกับที่บ้านเรามีการวิจัยตลาดกัน คือให้กลุ่มเป้าหมายเขียนไดอารี การวิจัยด้วยการเก็บข้อมูลจากไดอารีนี้มีมานานและเป็นที่นิยมกัน เขาให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งในกรณีนี้ไม่ได้รวมพวกหลังเกษียณไว้บันทึกว่าตลอดวันทำอะไร ไม่ใช่แค่ที่ที่ทำงานแต่หลังและก่อนเข้าทำงานด้วย (ตอนหลับคงไม่ต้องบันทึกว่าฝันว่าอะไร มากไป)

แล้วเขาก็แบ่งวิธีวัดการพักผ่อนออกเป็น 4 แบบ อันที่ตีวงแคบที่สุดรวมถึงกิจกรรมอะไรก็ตามที่คนถือว่าเป็นการผ่อนคลายหรือสนุกสนาน ส่วนอันที่กว้างออกไปก็หมายถึงอะไรก็ตามที่ทำแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง งานบ้าน หรือการวิ่งออกไปทำธุระ

เขาบอกว่าสี่สิบปีที่ผ่านมานี่คนอเมริกันพักผ่อนมากขึ้น 4-8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้าหากเทียบจากว่าทำงานกันอาทิตย์ละ 40 ชั่วโมง ก็เท่ากับได้เวลาพักมากขึ้นถึง 5-10 สัปดาห์ต่อปี
ที่น่าสนใจก็คือคนอเมริกันทั้งเพศหญิงและชาย ทั้งการศึกษาสูงและน้อย แต่งงานหรือเป็นโสด มีลูกหรือไม่มี ต่างพักผ่อนมากขึ้นทั้งนั้น และที่แปลกก็คือคนที่การศึกษาน้อยแต่มีงานทำพักผ่อนดีกว่าคนที่รวยและมีงานดีๆ

ข้อสังเกตอีกอันหนึ่งก็คือเมื่อเปรียบเทียบคนอเมริกันกับคนยุโรปในประเทศที่ร่ำรวย คนอเมริกันก็ยังทำงานในสำนักงานยาวนานกว่าคนยุโรป เพราะว่าตัวเลขชั่วโมงทำงานของคนยุโรปลดลงนั่นเอง

ทีนี้ต้องหันมาดูว่าทำไมท่านนักวิจัยทั้งสองจึงร่วมสรุปกันสรุปว่าคนอเมริกันพักผ่อนมากขึ้น อันนี้มันขึ้นอยู่กับคำจำกัดความของทั้งสองคนว่าอะไรที่เป็นการทำงาน อะไรที่เป็นการพักผ่อน และข้อมูลที่ได้มาเป็นแบบไหน

ทั้งสองบอกว่าการเก็บข้อมูลของทางราชการซึ่งเก็บจากเฉพาะที่ทำงานนั้นไม่ถูกต้อง อันนั้นเหมาะกับยุคที่คนทำงานกันในโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานล้วนๆ เดี๋ยวนี้คนทำงานที่บ้านก็มี ทำงานอิสระก็มี แล้วเขาก็ถือว่าการจับจ่ายซื้อของ การเตรียมอาหารให้ตัวเองและครอบครัว ออกไปทำธุระ และทำงานบ้าน พวกนี้ก็คืองานเหมือนกัน งานพวกนี้แหละหนักเท่ากับงานสำนักงานเลยทีเดียว โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงที่ต้องดูแลลูกด้วยทำงานนอกบ้านด้วย หนักหยอกใคร ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ชายไทยส่วนใหญ่จะเห็นว่างานบ้านนั่นก็งานนะคะ

ญาติของผู้เขียนคนหนึ่งมีลูกสองคน เธอชอบมาทำงานที่บริษัทมาก เพราะเห็นว่างานบริษัทสบายกว่าการเลี้ยงดูลูกสองคนที่บ้าน ส่วนผู้เขียนนั้นก็เห็นว่างานที่บริษัทหนักมาก แต่งานบ้านเป็นเรื่องเบาและสนุก ไม่ว่าจะเป็นซักผ้า ทำกับข้าว จัดบ้าน รดน้ำต้นไม้ หรือแม้กระทั่งหาเห็บให้สุนัข งานพวกนี้ถ้าในสายตาของนักวิจัยทั้งสองก็คงเป็นงานเหมือนกันนะคะ

ในงานวิจัยชิ้นนี้ เขาบอกว่าคนอเมริกันทำงานน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นงานที่ได้เงินหรืองานบ้าน ทั้งนี้เพราะมีเครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น มีเดลิเวอรี่มากขึ้น มีบริการอื่นๆ สำหรับชีวิตมากขึ้น เช่น ออนไลน์ช็อปปิ้ง ถ้าในเวอร์ชั่นไทยก็คงบอกว่า มีอาหารสำเร็จรูปขายตามหัวมุมถนนต่างๆ (สกปรก แต่สะดวก ทำไงได้) มากขึ้น อาหารถุงพลาสติค อาหารกล่อง แม้แต่โอเลี้ยงกาแฟเย็นถุงพลาสติค ยังพัฒนาเป็นแก้วพลาสติค บางรถเข็นยังสิบบาทเท่าเดิม

แม่บ้านทั้งหลายก็ไปทำงานหาเงินได้มากขึ้น

การเก็บข้อมูลด้วยไดอะรี่แบบนี้ไม่เฉพาะแต่อเมริกาที่ทำ แต่ออสเตรเลีย และประเทศในยุโรปหลายประเทศก็ทำกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติของไทยจะทำไหมคะ ก่อนทำก็ต้องล้างสมองคนไทยก่อนนะคะว่าต้องบันทึกอย่างซื่อตรง ไม่ใช่ผักชีโรยหน้า หรือแต่งข้อมุลเพื่อให้ตัวเองดูดี ถึงจะเอาไปใช้ได้จริง

ถามว่าคนอเมริกันคิดยังไงกับผลวิจัยอันนี้ ถ้าคนที่รายได้น้อยหน่อยอาจจะบอกว่า เอ เห็นท่าเราจะต้องทำงานมากขึ้น แต่สำหรับคนอเมริกันส่วนใหญ่ดูเหมือนว่าจะพอใจที่ได้พักผ่อนมากขึ้น

และที่สำคัญมันหมายถึงว่าการทำงานน้อยลงแต่รายได้ไม่ได้ลดลงนั้นคือ เวลาของเขามี (มูล) ค่ามากขึ้นนั่นเอง