Monday, September 12, 2011

สธ.ผุดทีมควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็วประจำตำบล

กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าขยายทีมคุมโรคเคลื่อนที่เร็ว จากที่มีครบทุกอำเภอทั่วประเทศ ลงล่างกระจายสู่ระดับตำบล นำร่องใน รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้ได้ 2 พันแห่งในปี 54...
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานสัมมนาเครือข่าย “อำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืน” จัดโดยกรมควบคุมโรคว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเตรียมความพร้อมพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรค ระบบการเตือนภัย และการจัดการที่มีประสิทธิผลทันการ เมื่อเกิดภัยพิบัติโรคระบาดและภัยทางสุขภาพ ซึ่งนอกจากจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง ยังมีผลต่อเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นในสายตาต่างประเทศด้วย เนื่องจากโรคระบาดและภัยทางสุขภาพนั้น มีผลกระทบรวดเร็ว ทั้งจากเทคโนโลยีการสื่อสารและการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว จึงต้องพัฒนาความพร้อมด้านนี้ทั้งในระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล เป็นเครือข่ายการทำงานอย่างบูรณาการ ลดการเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว หรือเอสอาร์อาร์ที (SRRT) ระดับอำเภอทั่วประเทศจำนวน 1,030 ทีม ซึ่งในปี 2554 มีนโยบายขยายลงสู่ระดับตำบล โดยนำร่องในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 2,000 ทีม ยุทธศาสตร์การทำงานจะเน้นหนักเรื่อง 3 เร็ว คือ รู้เร็ว แจ้งเร็ว และควบคุมโรคเร็ว ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยเอสอาร์อาร์ทีระดับอำเภอ ที่อยู่ระหว่างการประเมินผลการดำเนินงาน ตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะให้มีครบทุกตำบล มั่นใจว่าจะทำให้ระบบการควบคุมป้องกันโรคติดต่อและภัยสุขภาพอื่นของประเทศไทยในอนาคต จะมีความเข้มแข็ง

ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนาให้มีอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืน ให้สามารถสกัดและจำกัดขอบเขตของโรคและภัยสุขภาพหรือผลกระทบของปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ
  1. มีองค์กรและโครงสร้างที่เข้มแข็ง มีคณะกรรมการควบคุมโรคระดับอำเภอ โดยความร่วมมือของภาครัฐ ท้องถิ่นและประชาชน 
  2. มีทีมเอสอาร์อาร์ทีอย่างน้อยตำบลละ 1 ทีม และมีระบบข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังโรค สอบสวนโรคและภัยสุขภาพ 
  3. มีแผนงานควบคุมโรคของอำเภอทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ 
  4. มีการระดมทรัพยากร ตั้งกองทุนในท้องถิ่นสนับสนับงานควบคุมโรค 
  5. มีความสำเร็จในการควบคุมโรคที่เป็นปัญหาระดับประเทศและโรคในพื้นที่

No comments: